ประวัติ ของ พระยายะหริ่ง (สุลต่านเดวา)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดความบาดหมางระหว่างญาติพี่น้อง 3 ฝ่ายของเมืองกลันตัน คือ สุลต่านมุฮัมมัดที่ 2 หรือพระยากลันตัน (ตวนสนิปากแดง), ตนกูปะสา และพระยาจางวางกลันตัน (สุลต่านเดวา) จนส่งผลกระทบถึงประชาชนและการค้าขาย สยามได้จัดการปัญหาโดย ตนกูปะสาถูกเชิญมาเป็นเจ้าเมืองหนองจิกและเจ้าเมืองปัตตานีตามลำดับ สุลต่านเดวามาพำนักอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ปี ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396) พระยายะหริ่ง (นิยูโซฟ) เจ้าเมืองยะหริ่งคนที่ 3 หรือชาวเมืองเรียกว่า รายาโต๊ะกี ได้ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าแต่งตั้งสุลต่านเดวาซึ่งกำลังพำนักอยู่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งแทน

เมื่อสุลต่านเดวาปกครองเมืองยะหริ่งแล้ว ได้แต่งตั้ง ตวนกูสุหลง (Tuanku Sulung) ผู้เป็นบุตรช่วยงานราชการ ตวนกูสุหลงได้รับยศเป็นหลวงสุนทรรายา สุลต่านเดวาปกครองเมืองยะหริ่งได้ประมาณหนึ่งปีก็ถึงแก่พิราลัย ตวนกูสุหลงขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าแผ่นดินสยามกลับเมืองกลันตันอันเป็นมาตุภูมิของตน ต่อมานิตีมุงบุตรของพระยายะหริ่ง (นิยูโซฟ) หรือรายาโต๊ะกี ปกครองเมืองยะหริ่งแทนต่อจากสุลต่านเดวา[1]